พื้นที่ของแหล่งความรู้และเรื่องราวที่น่าสนใจ รวบรวมจากบทความ และบทเรียน ต่างๆใน Overdrive , Rhythm Section และ Com Music ซึ่งเป็นหนังสือในเครือ PMG โดยเฉพาะเล่มเก่าๆ ที่ตอนนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว ซึ่งมีบทความมากมายที่รอให้ทุกๆคนได้สัมผัส

Tuesday, October 2, 2007

Talk Box พี่โอ้ โอฬาร

หลังการปรึกษาหารือกันอย่างเคร่งเครียดแบบปล่อยให้โซดาละลายน้ำแข็งจนน้ำสีอำพันเจือจางดีกรีลงบนโต๊ะประชุม การหาข้อสรุปเกี่ยวกับการพูดคุยในรูปแบบสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการกับมือกีตาร์คนไหนยังคงเป็นปัญหาให้ต้องครุ่นคิดถึงเช้าวันต่อมาในอาการแฮงโอเวอร์และบังคับบทบาทต่อมาด้วยการ “ถอน” บทสรุปที่ค้นพบคือชื่อของมือกีตาร์ผู้จัดอยู่บนทำเนียบหนึ่งในสิบสุดยอดฝีมือกีตาร์ของเมืองไทย โอฬาร พรหมใจ หรือที่รู้จักกันดีในแวดวงและเรียกแบบคุ้นเคยปากว่า พี่โอ้ โอฬาร บทบาทต่อมาหลังการสัมภาษณ์และเรียบเรียงคำพูดผ่านตลับเทปคาสเซ็ท เรา (ทีมงาน) หารือกันว่าเนื้อหาของ Talk Box ในตอนนี้จะแตกต่างไปจากบทที่ผ่านมา เราจะพูดถึงเนื้อหาอย่างไร เราจะเน้นแนวคิดและปรัชญาการทำงานของมือกีตาร์ผู้นี้ เรา (อาจ) จะทำให้ Talk Box ตอนนี้เป็นตอนเดียวที่แตกต่างไปจากตอนอื่น ๆ ในรูปแบบของการบอกเล่าเรื่องราวผ่านคำพูดที่เรียบเรียงบนประสบการณ์การทำงานดนตรีของมือกีตาร์ผู้นี้แทนที่การถามแบบคาดคั้น เราจะไม่พะวงกับคำด่าทอของแฟนหนังสือทีผิดหวังในการค้นหาแบบฝึกหัด และ ๆ ๆ …ขอเชิญแฟน ๆ ผู้อ่านติดตามเนื้อหาของ Talk Box กันตามอัธยาศัย

clip_image002 ชีวิตกับการเริ่มต้นบนเส้นทางดนตรีตั้งแต่วัยเยาว์ การฝึกฝนด้วยตนเองและอาศัยคำแนะนำที่มีอยู่อย่างจำกัดของช่วงเวลาและสถานที่ (ต่างจังหวัด) คืออุปสรรคสำคัญในการฝึกฝนเรียนรู้ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นจริงจังของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ไม่น้อยไปกว่าเด็กในกรุงเทพฯใน พ.ศ.ที่สื่อการเรียนการสอนทางดนตรีมีอยู่มากมาย เวลากว่าสามสิบปีบนเส้นทางดนตรีอาชีพในหลายรูปแบบ การแกะเพลงด้วยตัวเองจากแผ่นเสียง การแอบมองมือกีตาร์รุ่นพี่แบบที่เรียกกันว่า “ครูพักลักจำ” เดินทางต่อมาถึงการเข้าร่วมวงดนตรี การร่วมแจมกับเพื่อนนักดนตรี แนะนำต่อมาในการเรียนรู้เครื่องดนตรีเกือบทุกชนิด นั่นหมายถึงการสั่งสมประสบการณ์ที่ต่อมาเป็นพื้นฐานในการทำงานดนตรีของตัวเอง กับคำถามเกี่ยงกับการเรียนรู้เบื้องลึกทางทฤษฎีและเสียงร่ำลือถึงการเล่นการฝึกกีตาร์ที่หนัก คำตอบของคำถามที่ออกจากปากอย่างจริงจังของพี่โอ้ว่า “ก็เคยเรียนทฤษฎีดนตรีมาจากสมัยที่เรียนมัธยม พวกพื้นฐานการอ่านการเขียนโน้ต ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีต่าง ๆ ตอนหลังพอเข้ากรุงเทพฯก็มาเรียนกับอาจารย์นพ อาจารย์โป๊ป และอีกหลายคน สำหรับเรื่องการฝึกกีตาร์นี่ช่วงแรก ๆ ก็ค่อนข้างหนัก เล่นอยู่ประมาณวันละ 10 ชั่วโมงได้ หลังๆ ก็ลดลงมาเหลือ 8 ชั่วโมง ช่วงนี้ก็เล่นอยู่วันละ 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ถ้าว่าง ๆ ก็จะจับกีตาร์ตลอด อย่างเวลานั่งดูทีวีก็จะเล่นไปด้วย คงต้องอาศัยเวลาจากช่วงนี้ให้เป็นประโยชน์”

ในช่วงเวลาสุกงอมของฝีไม้ลายมือกับผลงานที่สร้างชื่อให้กับพี่โอ้ “กุมภาพันธ์ 2528” ในนามดิ โอฬาร โปรเจค ช่วงเวลาก่อนหน้าที่ดนตรีเฮฟวี่ เมทัลจะระบาดในบ้านเรา ถือได้ว่างานชุดนี้เป็นงานนำร่องก็ไม่ผิด จากความหนักหน่วงของ Rhythm Section ความดุดันของเสียงร้อง และแน่นอนความกราดเกรี้ยวแต่สวยงามในท่วงทำนองของกีตาร์ทำให้งานอัลบั้มนั้นเข้าไปอยู่ในใจของคนฟังเพลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายถึงอิทธิพลของดนตรีเฮฟวี่ เมทัลได้ฝังลึกลงไปในจิตใจของมือกีตาร์ผู้นี้อย่างเต็มเปี่ยม และสานต่อเนื่องมาถึงอัลบั้ม “หูเหล็ก” ที่ยังคงความหนักแน่นของดนตรีเมทัลเอาไว้ได้เป็นอย่างดี หลายปีต่อมากับผลงาน “ลิขิตดวงดาว” เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีการทำงานอย่างค่อนข้างน่าแปลกใจสำหรับแฟนเพลงเดิม ๆ กับทิศทางดนตรีที่สุขุมขึ้น ความรุนแรงกราดเกรี้ยวที่ถูกทอนลงไป นี้หมายถึงอิทธิพลจากการเรียนรู้ทางดนตรีใน พ.ศ.ที่ผ่านมาผลักดันแนวคิดในการทำงานของมือกีตาร์ผู้นี้เปลี่ยนไป คำถามที่มีต่อมากับการศึกษางานดนตรีก่อนหน้าการทำงานชุดนี้ “ก็เริ่มฟัง Larry Carlton , Allan Holdsworth ชอบงานของเขานะ ฟังมาหลายปีแล้วตั้งแต่บ้านเรายังไม่มีใครรู้จักเลย ถ้าจะถามว่าดนตรีของเค้าเป็น Jazz , Fusion หรืออะไร ตามความรู้สึกส่วนตัวอยากจะเรียกว่าเป็น Individual Music มากกว่า เพราะดูจะจำกัดแนวทางการเล่นของเค้ายาก อาจจะเรียกว่าเป็น “ปัจเจก”ก็คงได้ ทุกคนอยากทำงานให้เป็นตัวของตัวเอง และ Holdsworth ก็จะมีสุ้มเสียงของตัวเองชัดเจนมาก” คำถามต่อมากับการทำงานของตัวเอง อิทธิพลในการศึกษางานดนตรีที่ผ่านมาเข้ามามีส่วนในการทำงานของตัวเองหรือไม่ อย่างไร “ อิทธิพล…(ครุ่นคิด) คงหลีกยากเพราะเราศึกษาอะไรจากเค้า แต่สิ่งที่มีอิทธิพลก็คือ เวลาคิดนี่เราพยายามคิดว่าเค้าคิดงานอย่างไรถึงได้เกิดสุ้มเสียงแบบนี้ออกมา นั่นคือสิ่งที่เราคิด มากกว่าที่จะไปเสียเวลาพยายามคิดลอกสำเนียงกีตาร์หรือก๊อปปี้ลูกนิ้วของเค้ามาใช้ ซึ่งตรงนี้บอกได้เลยว่าตัวเองไม่มีเพราะว่าเล่นยังไง ๆ ก็ไม่เหมือนเค้าหรอก จะพยายามให้เหมือนที่สุดก็คงเหมือนแค่ตัวโน้ตที่ใช้ แต่เรื่องของความรู้สึกหรืออารมณ์คงทำอย่างเค้าไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ต้องยอมรับ เลยคิดว่า เค้าคิดอย่างไรถึงได้เกิดวิธีการเล่นออกมาอย่างนั้น คิดไปถึงว่าเค้ามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร สิ่งที่เค้าเล่นจึงแสดงออกมาอย่างนั้นได้ คือต้องมีความแตกต่างจริง ๆ ถึงจะโดดเด่นขึ้นมาในวงการได้ เพราะนักดนตรีบ้านเค้าชีวิตทั้งชีวิตทุ่มเทลงไปตรงนั้นหมด ทั้งสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมเค้ามา เราต้องยอมรับกันว่านักดนตรีในบ้านเค้ามีมากและฝีมือดี ๆ ทั้งนั้น แต่คนที่จะโดดเด่นขึ้นมาได้นั้นจะต้องมีอะไรที่โดดเด่นเป็นพิเศษจริง ๆ เมื่อศึกษาและรับอิทธิพลในแง่วิธีการคิดของเค้ามาก็คงหลีกไม่พ้นที่จะนำมาใช้กับงานของเราเอง งานที่ทำออกมาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่เราศึกษา คือคงบอกไม่ได้ว่าเราจะต้องมีรูปแบบการเล่นของตัวเองอย่างไร เมื่อก่อนคิดนะแต่ทุกวันนี้ไม้ได้คิดแล้ว คิดอยู่อย่างเดียวคือพยายามถ่ายทอดผลงานออกมาให้ได้อย่างที่ตัวเองคิดและรู้สึก ณ ช่วงเวลาปัจจุบันเราคิดอย่างไรก็จะนำเสนอผลงานออกมาอย่างนั้น จริง ๆ เลยการเล่นกีตาร์ของเรานี่มันไร้รูปแบบหมายความว่าบางทีวันนี้คิดอย่าง พรุ่งนี้อาจจะคิดอีกอย่างแล้วการเล่นมันก็จะออกมาแตกต่างกัน บางทีสิบวันอาจจะเล่นออกมาเหมือนกันหมดแต่ในชั่วโมงหนึ่งข้างหน้าเราอาจจะเล่นอะไรที่ไม่เหมือนเดิมอีกก็เป็นได้ คือไม่ได้จำกัดตัวเองว่าจะต้องอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นผลงานที่ผ่านมาก็จะแตกต่างกันออกไป คือมีตั้งแต่เสียงแบบ Rock N’ Roll หรือ Heavy Metal ในสมัยเริ่มต้นก็ชอบอะไรที่มันรุนแรงโครมครามตลอด แต่ถึงตอนนี้เรากลับชอบอะไรที่มันฟังสบาย ๆ คงไม่หนักเหมือนแต่ก่อนแล้ว”

พูดถึงการเล่นกีตาร์ของโอฬารที่ร่ำลือกันมากในเรื่องของการ Improvise ประโยคต่อมา “ ชอบการเล่น Improvise มาก คือเราคิดไงว่าการที่มีคนมาเฝ้าชมการแสดงของเราในแต่ละคืนนั้นน่าจะได้อะไรกลับไปบ้าง อีกอย่างก็คงเป็นเรื่องของอารมณ์ หรืองานนั้นมันนานมากจนเราจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะช่วงไหนที่เราหมกมุ่นอยู่กับการคิดงานใหม่ ๆ ก็คงจะมีบ้างที่เราต้องทำตรงนั้น ไม่อยากพูดว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถ้ามีบางอย่างที่ติดหูมาก ๆ และเราจำได้ก็จะพยายามคงไว้เหมือนกัน “

clip_image004 คำถามต่อมาเราพยายามค้นหาคำตอบในแนวลึกของการ Improvise ที่เกิดขึ้นในการแสดงสดและปรากฏในชิ้นงานที่ได้ยินได้ฟังกันมา คำตอบที่ได้น่าสนใจไม่น้อย “ ฝึกหนักมาก อย่างที่บอกว่าเคยเล่นถึงวันละ 10 ชั่วโมง ฝึกทุกอย่างโดยเฉพาะเรื่องการ Improvise ก็ต้องเข้าใจเรื่องของสเกล/โมด ที่ใช้อยู่บ่อย ๆ ก็มีพวก Dorian และ Phrygian และก็มี Mixolydian แต่เราจะไม่ได้กำหนดว่าในเพลงของเราจะต้องใช้เฉพาะโมดใดโมดหนึ่ง เพราะเรื่องราวของแต่ละเพลงมันแตกต่างกันออกไป มันจะมีเมโลดี้บางอย่างที่คิดขึ้นมา บางทีเราก็สามารถนำเอาโมดบางโมดเติมเข้าไปได้ ซึ่งการที่เราจะใช้โมดอะไรนั้นมันขึ้นอยู่กับความต้องการของเราในช่วงเวลานั้น บางทีก็เติมพวกโน้ตบลูส์ หรือพวกเพนตาโทนิคลงไป คือดนตรีที่ทำออกมาก็จะไม่จำกัดรูปแบบใช้อะไรได้หลาย ๆ อย่าง ก็อาจจะเรียกว่า เป็นการเล่นตามเนื้อหา เนื้อหาของบทเพลง และเรื่องราวที่มีปรากฏในบทเพลง แต่เรื่องของโมดก็คงไม่ใช่คำตอบสำหรับการทำงานของเราทุกอย่าง เพราะในความคิดของตัวเองบางครั้งที่เราเรียนรู้เรื่องโมดหรือสเกลอะไรต่าง ๆ นี้ ไม่แน่ว่าบางทีมันอาจจะเป็นการจำกัดจินตนาการของเรา แน่นอนว่าการเรียนรู้นั้นย่อมเป็นการดีเพราะถือว่าเป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้ แต่ยังไงโมดก็ยังคงเป็นโมดอยู่วันยังค่ำ เหมือนการท่องหนังสืออยู่บนที่นอนยังไม่ได้ลุกออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ภายนอกที่ทำให้ตัวเองกระฉับกระเฉง กับการทำงานเราควรใช้จินตนาการใช้ความรู้สึกของเราเป็นตัวกำหนดมากกว่าว่าเราจะต้องใช้โมดนี้ใช้โมดนั้น รู้สึกอย่างไรก็ควรเล่นออกมาอย่างนั้น การเอาโมดมาเป็นตัวกำหนดมันก็เหมือนกับการทำงานตามสูตรสำเร็จ เพราะถ้าบางทีสิบคนฝึกโมดเดียวกันมาฟอร์มนิ้วมันก็จะเหมือนกันหมดสิบคน ถึงเวลาทำงานออกมาก็คงจะไม่แตกต่างอะไรกันเลย คงแตกต่างกันแค่ในรายละเอียดปลีกย่อยว่าดีดอย่างไร แต่เสียงของสเกลมันก็คงจะอยู่แค่นี้ถ้าเรายังคงใช้โมดเป็นตัวกำหนดการทำงานของเรา และก็อาจจะฟังดูน่าเบื่อ ตรงกันข้ามถ้าเราไม่ยึดติดอยู่กับเรื่องนี้ ในคอร์ดเดียวกันเราสามารถสร้างงานออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงและเป็นสุ้มเสียงที่เป็นปัจเจกของเราได้ดังนั้นคิดว่าการเล่นอะไรออกมาเราควรอาศัยความรู้สึกของเราคือเล่นในสิ่งที่เรารู้สึกและอยากให้เป็น”

คำถามต่อมากับสุ้มเสียงสำเนียงกีตาร์ของโอฬาร “ ไม่รู้เหมือนกัน ตรงนี้คงขึ้นอยู่กับคนฟังเขาจะว่ายังไง แต่ในเรื่องของการปรับแต่งเสียงกีตาร์คนส่วนใหญ่จะรู้ทันทีว่าเป็นเสียงกีตาร์ของเรา แต่เราก็ไม่ได้สนใจตรงนี้มากนักว่าจะต้องพยายามปรับแต่งเสียงกีตาร์ให้ได้คงเดิมเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของเรา บางครั้งรูปแบบการปรับหน้าตู้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่แน่นอน บางทีก็ขึ้นอยุ่กับอารมณ์ด้วย เพราะบางครั้งเราอยุ่ในช่วงอารมณ์สบายใจการปรับเสียงกีตาร์ของเราก็จะออกมาในแบบหนึ่ง ในขณะที่สถานการณ์ตรงกันข้ามเสียงกีตาร์ของเราอาจจะไม่เหมือนที่เคยหรือไม่ได้อย่างที่ใจคิด นี่เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือการเล่น ที่เป็นส่วนตัวจริง ๆ ก็คงเป็นพวกการเล่น Vibrato หรือรูปแบบการดีดแบบ Triplet ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่วลีกีตาร์ของโอฬารที่จะได้ยินกันบ่อย ๆ คือเสียงทาง Natural Minor ที่เราชอบเล่นเพราะฟังแล้วสบายหู มันแฝงความรู้สึกเหงา คือมันจะตรงกับชีวิตเราด้วยในสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา เมื่อก่อนเราเคยลำบากมา เหงา สงสารตัวเอง อะไรอย่างนี้ แต่ถ้าเราใช้ Major ความรู้สึกมันก็จะสดใสสว่าง วันไหนที่เราสบายใจก็อาจจะเล่นออกมาอย่างนั้นก็ได้ นี่คืออีกอย่าง ส่วนในเรื่องของพวกเทคนิคอย่าง Tapping นี่จะไม่มีเพราะเราเป็นคนเล่นกีตาร์ที่ไม่ชอบการเล่นเทคนิค เทคนิคของโอฬารคือการดีดเพียงอย่างเดียว ตัวโน้ตทุกตัวจะมาจากการกดของมือซ้ายและการดีดจากมือขวาเท่านั้น ส่วนในเรื่องของคันโยกก็จะมีบ้างแต่ไม่บ่อยนัก”

clip_image005 เมื่อถามถึงการทำงานในห้องบันทึกเสียงคำตอบที่ได้ค่อนข้างคลี่คลายปริศนาหลายอย่างเกี่ยวกับวิธีการทำงานของมือกีตาร์คนนี้ “ถ้าพูดถึงท่อนโซโล่นี้จะมีทั้งการแต่งเอาไว้ก่อนและการคิดขึ้นสด ๆ ในแนวทางของตัวเองการคิดคือการเอาสิ่งที่เราได้คิดไว้แต่กระจัดกระจายอยู่รวบรวมเป็นข้อสรุปให้ได้ จะสังเกตง่าย ๆ จากงานเก่า ๆ อย่าง “ไฟปรารถนา” นี่เกิดจากการคิดแต่งโดยตรงและสรุปออกมาอย่างที่ได้ฟังกัน ส่วนของการคิดขึ้นสด ๆ แบบ Improvise ในห้องอัดนั้นมักจะเป็นการทำงานในช่วงที่นักดนตรีคนอื่นไม่อยู่ คือจะอยู่สองคนกับซาวด์เอ็นจิเนียร์ ต้องการสมาธิมาก ต้องปิดไฟในห้องอัดด้วย บางทียังรู้สึกไม่สงบพอก็ต้องหันหน้าเข้าหามุมใดมุมหนึ่งของห้องที่จะทำให้รู้สึกว่าตัวเรามันใหญ่โตขึ้น มีพลังมากขึ้น นี่คือวิธีการทำงานของโอฬารในห้องอัด จะเลือก Improvise อยู่ประมาณ 2 – 3 เทคจนกว่าจะพอใจ มีเหมือนกันที่ต้องเล่นกันเป็นสิบเทคกว่าจะได้ที่พอใจ สำหรับการ Improvise ก่อน ๆ จะทำแบบผสมผสานกับบางอย่างที่คิดเอาไว้คร่าว ๆ ล่วงหน้า แต่ตอนนี้ชอบที่จะ Improvise เอาสด ๆ ทั้งหมดมากกว่า และเราจะเป็นคนเล่นกีตาร์ที่ไม่ได้ยึดแบบแผนเลย โดยเฉพาะในการแสดงสดนี่จะเล่นตามใจตัวเองมาก”

clip_image007 จากคำตอบในเชิงอรรถาธิบายแจกแจงอย่างค่อนข้างลึกซึ้งเกี่ยวกับ”แนวคิด”ของมือกีตาร์ผู้นี้ นั่นหมายถึงคนเล่นกีตาร์ผู้จัดเจนบนคอกีตาร์ผ่านเวลาที่นับหน่วยกันเป็นทศวรรษ คำถามต่อมาสำหรับมือกีตาร์ผู้เริ่มต้นบนถนนสายเดียวกันกับคำแนะนำในการฝึกฝน คำตอบที่ได้น่าสนใจแบบต้องบันทึกไว้บนกระจกเพื่อการอ่านทบทวนระหว่างการแปรงฟันทุกเช้าว่า”ทุก ๆ อย่างที่ทำอยู่ต้องทำด้วยความมุ่งมั่นและชัดเจน เรามาจากพื้นฐานตรงไหนก็ตาม เราต้องรู้จักตัวเราเอง อย่าดูถูกตัวเอง ควรสร้างวิธีการคิดของตัวเอง การฝึกกีตาร์นี่ไม่ใช่หมายถึงการก้มหน้าก้มตาฝึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว เราควรจะรู้ในสิ่งที่เราต้องการ นั่นก็คือต้องรู้จักตัวเอง อย่าดูถูกตัวเอง เพราะถ้าเรานั่งฝึกอะไรสักอย่าง ๆ พวกโมดอยู่นานเป็นห้าปีหรือสิบปี เวลาเล่นอะไรออกมามันก็จะยังคงเป็นอะไรเดิม ๆ อยู่อย่างนั้นวันยังค่ำ เพราะเราจะมีแต่ความชำนาญ แต่ในเรื่องมันสมองที่จะใช้ในการคิดเราจะไม่ได้ฝึกฝนมันเลย คำพูดตรงนี้อาจจะไม่กระจ่างนักคงต้องมีการขยายความกันอีกพอสมควร หลังผ่านการฝึกฝนเรียนรู้พอสมควรและมั่นใจว่าเราสามารถที่จะคิดและทำอะไรได้ด้วยตัวเองแล้วก็ขอให้เริ่มลงมือทำ อย่ากลัวที่จะลงมือทำ มันเหมือนเราจุดประกายให้ตัวเอง ถ้าเราเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างเราจะเกิดความรู้สึกภูมิใจ เราสามารถสร้างสิ่งที่เป็นความคิดของเราออกมาเป็นบทเพลงได้ มันจะช่วยจุดประกายให้เรากล้าคิดกล้าทำอะไรต่อไป ขอให้มีความตั้งใจ จริงใจและจริงจังกับสิ่งที่เราทำ และขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ

clip_image009 หลังการพูดคุยกับมือกีตาร์ผู้นี้ สิ่งที่ได้รับจะมีคุณค่าหรือไร้สาระขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้อ่านแต่ละคนจะพิจารณากันไป แต่เรามั่นใจในสิ่งที่เรานำเสนอว่ามีคุณค่าเพียงพอสำหรับคนดนตรีผู้คนหาแนวคิดและปรัชญาในการทำงานมากกว่าวิ่งไล่เหยียบเงาตัวเองบนแบบฝึกหัดกีตาร์หลายพันหลายหมื่นบทเรียนแต่คิดอะไรเองไม่เป็น !!! ขอโทษถ้าคำกล่าวในบทปิดท้ายฉบับนี้รุนแรงและแทงใจดำใครเข้า แต่ผู้เขียนปรัชญาโบราณว่า ”ยาดีย่อมขมปาก” นี้เป็นคำยืนยันที่เป็นจริงจากรุ่นถึงรุ่น จาก พ.ศ.ถึง พ.ศ. แล้วเราชาว Overdrive จะยอมรับกันไม่ได้เชียวหรือ

clip_image011

ไฟปรารถนา

clip_image013

พี่โอ้ โอฬาร

สุดยอดมือกีตาร์แห่งสยามประเทศ

อ้างอิง : Talk Box,Overdrive Magazine No.10

No comments: