ผ่าสมอง : Billy Gibbons ZZTOPS
From : Overdrive Guitar Magazine No. 27 , September 2000
คอลัมน์เก่าของ อ.วิชัย เที่ยงสุรินทร์ ผู้บุกเบิก บทความของศาสตร์และเสียงของ ดนตรีที่เป็นอมตะ และ ขอให้ผลดีที่อาจารย์ได้ทำมา คุ้มครองอาจารย์ในอ้อมกอดแห่งพระเจ้าด้วยเทอญ
โดย อาจารย์ วิชัย เที่ยงสุรินทร์
สุ้มเสียงของ ซีซีท็อบนับว่าเป็นตัวแทนของเท็กซัสได้อย่างเต็มภาคภูมิ สูตรแรกและสูตรเดียวของชาวคณะนี้คือ ดนตรีที่หนักหน่วง รุนแรง เร่งเร้าอารมณ์ เป็นดนตรีร็อคที่มีพื้นฐานมาจากเสียงบูลล์จากการใช้สเกลและเจือด้วยความเป็นป็อปอยู่บ้าง จากฟอร์มของเพลง การใช้คอร์ดตลอดจนเนื้อหาของเพลง อัลบั้มที่มียอดขายรุนแรงอย่างมากได้แก่ Eliminator และ Afterburner ที่ทำให้ ซีซีท็อป กลายเป็น เศรษฐีใหญ่หลังจากที่ระหกระเหินมาเป็นเวลานาน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ซีซีท็อป ก็เป็นชื่อเรียกติดปากของผู้ฟังทุกรุ่น ทุกแบบ ไม่ว่าคุณจะชอบบูลล์ชอบร็อค หรือ ป็อป ซีซีท็อป แทรกเข้าไปในใจของทุกคน
อาจกล่าวได้ว่าคนเราทุกคนมีความดิบเถื่อนอยู่ในใจที่พร้อมจะปลดปล่อยออกมาถ้ามีโอกาส แม้ว่าคนที่ดูบุคลิกภายนอกจะเป็นคนสุภาพอ่อนโยนก็ตาม วันหนึ่งในห้องน้ำส่วนตัวเขาอาจจะทำอะไรบ้าบอคอแตกอยู่คนเดียวเพื่อปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจที่เก็บกดเป็นเวลานาน ดนตรีบูลล์แนวเท็กซัส เป็นดนตรีที่ค่อนข้างดิบและเข้าใจอารมณ์เถื่อนๆภายนในจิตใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ถ้าอ้อยสร้อย โหยหวน ละก็ คงไม่มีใครเกินชิคาโกบูลล์ก็แล้วแต่ใครจะชอบแบบไหนล่ะครับ ซีซีท็อป จัดเป็นวงที่เล่นดนตรีเถื่อนๆ ดิบๆ นิดๆ แน่นอนย่อมเข้ากับคนมี่สุกๆห่ามๆได้ดี ขณะเดียวกันคนสุภาพเรียบร้อยที่ต้องการจะปลดเปลื้องความเก็บกดภายในก็ชอบผลงานของพวกเขา เอาไว้แอบฟังคนเดียวยามไม่มีใครอยู่ด้วย แต่ ซีซีท็อปเหนือชั้นกว่า เท็กซัสบูลล์ระดับปกติ เพราะพวกเขาสามารถนำเอาเสียงสังเคราะห์จากเครื่องดนตรียุคใหม่ ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องของดนตรีเต้นรำ หรือดนตรีป็อปที่วิจิตรพิสดารหรือดนตรีนอกโลก อันได้แก่ เครื่องกลอง (drum machines)
และซินธิไซเซอร์ เข้าไปผสมผสานกับเสียงเท็กซัสบูลล์ได้อย้างเหมาะเจาะ เรายกย่องผู้ที่มีความสามารถในการนำเอาบางสิ่งบางอย่างที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ ไปกวนให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเดียวกัน สิ่งนี้ไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆมิฉะนั้นอาจกลายเป็นหัวมงกุฎท้ายมังกรเหมือนกับผลงานหลายๆชิ้นในบ้านเรา กิ๊บบอน มีชื่อเสียงลือเลื่องในฐานะมือกีตาร์ที่ใช่เสียงดิสทอร์ชั่นที่อ้วน หนา และการเล่นกัดปิ๊คเรียกฮาร์โมนิคแบบถึงกึ๋น เทคนิคการกัดปึ๊คให้ปรากฎเป็นเสียงฮาร์โมนิคนี้เรียกว่า Pinch Harmonics เสียงที่ปรากฎขึ้นมาจะเป็นเสียงที่สูงกว่าโน้ตในช่องที่เราเล่น(ดูเรื่องฮาร์โมนิคจากเรื่องอีคิว-ปรัชญาการปรับเสียง) ซึ่งอาจเป็นเสียงที่2, 3, 4 ฯลฯ เรียกว่า 2nd Partial, 3rd Partial, 4th Partial ส่วนโน้ตอยู่บนเฟร็ตที่เราเล่นนั้นเรียกว่า Acoustic Roof หรือ 1st Partial เช่น 1=c,2=c(สูงกว่า 1อ็อคเตฟ),3 = G (สูงขึ้นไป) 4=C (สูงขึ้นไปอีก) ฯลฯ การกัดปิ๊คทำได้ด้วยการจับปิ๊คแบบหมิ่นเหม่ โผล่ปลายออกมานิดเดียวเมื่อดีดไปบนสายจะกระทบกับปิ๊คแล้วไปสะกิดโดนเนื้อข้างๆเล็บของนิ้วหัวแม่มิอ จะเกิดเป็นสียงฮาร์โมนิคเกิดขึ้นมา
อย่าเข้าใจผิดคิดว่าถ้าดีดให้ถูกปิ๊คและกระทบกับเนื้อเช่นนี้จะทำให้เกิดเสียงวิ๊ด ชองฮาร์โมนิคได้ทุกครั้ง ฮาร์โมนิคจะเกิดเสียงวิ๊ดของฮาร์โมนิคได้ทุกครั้ง ฮาร์โมนิคจะเกิดขึ้นมาได้ขึ้นอยู่กับระยะทางระหว่างนิ้งมือซ้ายที่กดลงบนเฟร็ต (หรือจากสายเปล่า)ด้วย ถ้าห่างกัน5เฟร็คจะเกิดเลียงฮาร์โมนิคที่4,ห่างกัน 7เฟร็ต เกิดเป็นเสียงฮาร์โมนิคที่2(อย่าลืมว่าโน้ตของมือซ้ายชองฮาร์โมนิคที่1)ในกรณีตำแหน่งมือขวาที่หลุดออกไปนอกเฟร็ต หรือมือขวาดีดอยู่แถวๆปิ๊คอัพ หรือ แถวสะพานสายก็จะมีเสียงฮาร์โมนิคที่เกิดจากการกัดปิ๊คนี้ เช่นกัน เราต้องคิดถึงเฟร็ตสมมุติขึ้นมา แล้วกะบริเวณตำแหน่งที่จะดีดโดยบวก 12 เฟร็ตเข้าไป เช่นฮาร์โมนิคที่4 เกิดขึ้นบนเฟร็ตที่ห่างจากมือซ้ายออกไป 5เฟร็ต และ 5 12 17 เฟร็ต,ฮาร์โมนิคที่3 เกิดขึ้นบนเฟร็ตที่ห่างจากมือซ้ายออกไป 7เฟร็ต และ7+12 = 19 เฟร็ต,และ ฮาร์โมนิคที่4เกิดขึ้นบนเฟร็ตที่ห่างจากมือซ้ายออกไป 12เฟร็ต และ12+12 =24 เฟร็ต ดังนี้ เป็นต้น ในกรณีสมมุติว่าไม่มีเฟร็ตนั้นๆเราก็ลองกะตำแหน่งดูเอาเอง หรือทดลองเล่นและจำตำแหน่งเอาไว้ เช่นมือซ้ายกดที่สาย 1 ช่อง 8 เป็นโน้ต C ถ้าอยากกัดปิ๊คให้เกิดฮาร์โมนิคที่2ขึ้นมาเราต้องใช้มือขวาปดีดสาย 1 ตรงบริเวณเฟร็ตที่ 20 (8+12) หรือ ถ้าบวก 12 เข้าไปอีกจะเป็น 8+12+12 = เฟร็ตที่32 กีต้าร์ของไม่มีเฟร็ตที่32 ก็ต้องลองกะประมาณว่าเฟร็ตที่ 32 ควรอยู่แถวใด ซึ่งอาจจะอยู่บนปิ๊คอัพ ใกล้สะพานสาย ฯลฯ ดังนี้ เป็นต้น จากนั้นจำตำแหน่งเอาไว้ให้ดี หรืออาจจะเอาเทปมาปะเอาไว้เป็นเครื่องหมายก็ได้
เด็กบ้านเรามากมายเข้าใจผิดเรื่องนี้ คิดว่าถ้าดีดสายด้วยปิ๊คและให้สายไปกระทบกันเนื้อหัวแม่มือก็จะต้องเกิดฮาร์โมนิคทุกครั้ง ถ้าไม่เกิดแสดงว่าเทคนิคถูกต้องแล้ว ก็คิดว่ากีต้าร์ของเราไม่ดีถึงกับขายทิ้งซื้อตัวใหม่ก็มี ขอให้เข้าใจ เสียใหม่ว่า ต้องดีดให้ถูกกับตำแหน่งด้วยจึงเกิดเสียงฮาร์โมนิคและจะต้องเป็นฮาร์โมนิคตัวที่เราสั่งให้เกิดขึ้นมาด้วย ไม่ใช่เกิดเพราะความบังเอิญ จะเป็นเสียงฮาร์โมนิคที่เท่าไหร่ก็ชั่งมัน กีต้าร์ต่อให้ยอดแย่ขนาดไหน ก็มีสิทธิ์ที่จะเปล่งเสียงฮาร์โมนิคได้ทุกตัวถ้าตำแหน่งของเราถูกต้อง
ฮาร์โมนิคที่ฟังชัดเจน พุ่งไปไกลก็ไม่ได้เกิดจากว่ากีต้าร์ตัวนั้นราคาแพงหรือของดี ขึ้นอยู่กับการปรับโทน ทุ้ม-แหลม หรือ ปรับย่านความถี่เสียงจากอีคิวทั้งของกีต้าร์, แอมป์ และเอฟเฟ็ค ตลอดจนความใหม่ของสายกีต้าร์ ถ้าเป็นสายกีต้าร์เก่าเสีงยตายไปแล้วก็จะเปล่งฮาร์โมนิคได้แผ่วเบา หรือไม่ออกเลย ดังนั้นไม่ต้องเสาะแสวงหากีต้าร์ตัวใหม่ที่แพงหูฉี่ หรือไปนั่งซื้อปิ๊คอัพตัวใหม่มาเปลี่ยน เพียงเพราะว่าเสียงกัดปิ๊คไม่ออกมา
โซโล่ของกิ๊ปบอนส์ที่ถือว่าเน้นลูกกัดปิ๊คเป็นหัวใจและทำได้เด็ดดวงมากๆ ได้แก่ เพลง La Grange จากอัลบั้ม Tres Hombres ในปี 1973 กิ๊ปบอนส์ใช้เสียงฮาร์โมนิคจากการกัดปิ๊คต่อเนื่องกันเป็นขบวนเลยทีเดียว และเป็นการโชว์การควบคุมตำแหน่งของฮาร์โมนิคได้อย่างตามใจนึกว่าจะสั่งให้เกิดเสียงฮาร์โมนิคตัวที่เท่าไหร่ออกมา ดังนั้นอย่ากัดปิ๊คแบบชุ่ยๆคิดถึงตัวโน้ตที่จะเปล่งออกมาด้วย ของอย่างนี้ถ้าไม่ศึกษาหรือรู้ดนตรีพอสมควร จะไปนั่งทดลองหรือค้นคว้าเอาก็ย่อมทำได้ แต่อาจกินเวลาเป็น 10 ปี เรียนรู้ดนตรีให้เป็นเรื่องเป็นราวสักหน่อยช่วยย่นเวลาสุดกู่ ไม่ดีกว่าหรือครับ ในแง่มุมของการใช้สเกล กิ๊ปบอนส์ ก็เป็นเช่นเดียวกับ นักกีต้าร์แนวร็อค และบลูส์ส่วนใหญ่ นั่นคือ การใช้เพนตาโทนิคไมเนอร์(1 b3 4 5 b7)และบลูส์สเกล(1 b3 4 b5 5 b7) เป็นสเกลหลักในการเล่นมีการใช้โน้ตตัวอื่นๆเป็นตัวผ่านทาง(passing notes)อยู่บ้าง เช่นในเพลง Waiting For The Bus ซึ่งกิ๊ปบอนส์ใช้สเกลหลัก พร้อมกับมีโน้ตตัวที่ 6 ของสเกลมาเป็นตัวผ่านทางเข้าไปหาโน้ต b7 และใช้การเล่นพลู-ออฟ จากโน้ตบนเฟร็ตสูงๆเข้าไปหาโน้ตในสายเปล่าซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้รับอิทธิพลมาจากเจฟ เบ็ค
บางครั้งกิ๊บ บอนส์ จะใช้เพนตาโทนิคเมเจอร์ ( 1,2,3,5,6 ) อยู่บ้างผสมผสานเข้าไปกับบางคอร์ดในบทเพลง เพื่อแต่งเติมสีสันใช้ขยายขอบเขตออกไป อันเป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของพ่อมือช้า อีริค แคลปตัน เช่นเพลง Rough Boy จากอัลบั้ม Afterburner จะเห็นได้ว่ากิ๊บ บอนส์ สามารถทวนกลับไปกลับมาระหว่างเพนตาโทนิคไมเนอร์และเพนตาโทนิคเมเจอร์ได้อย่างมีระดับทีเดียว
ปรัชญาการโซโลของ กิ๊บ บอนส์ ที่เขาเริ่มนำมาใช้ในช่วงหลังๆ คือ การพยายามเล่นให้ช้าลง แต่ใช้สัดส่วนของตัวโน้ตที่ดิ้นเด้งไปเด้งมา [rhythmic] มากกว่า จะเป็นการโซโลเร็ว และใช้ลูกเล่นที่ต่อเนื่องกันราบเรียบเหมือนยุคก่อนๆ นี่เป็นการหนีออกจากสังคมที่เต็มไปด้วยเสียงกีตาร์ไฟแลบจากบรรดาเกจิ เฮฟวี่ยุคหลังที่โซโลกันจนฟังแทบไม่ทัน กิ๊บ บอนส์ หนีออกมาได้จนสำเร็จ กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นส่วนตัวและเขายังพยายามลงมาโซโลบนสายเสียงต่ำ (6,5,4 )มากขึ้น ทำให้เกิดลักษณะเสียงที่ อ้วน กลมหนาแน่นไม่กรีดโหยหวนไปกลางกระหม่อม แบบนักกีตาร์คนอื่นๆ ฟังแนวความคิดนี้ได้จากบทเพลง Sharp Dressed Man และ Cleap Sunglasses
นอกจากนี้ กิ๊บ บอนส์ ยังใช้วิธีตบคอร์ด 3เสียงและ 2เสียง ( 2 เสียงก็เป็นคอร์ดได้ ถ้าเล่นเสียงในคอร์ดทีละ 2 เสียงกลับไปกลับมา หูผู้ฟังก็จะฟังว่าเป็นเสียงในคอร์ดอยู่ดี เช่นคอร์ด C major ประกอบด้วยโน้ต C E G เราอาจเล่นคู่ประสาน C,E กับ E,G สลับกันไปมา หูของผู้ฟังจะรับรู้ได้ว่าคือ คอร์ด เมเจอร์ วิธีการนี้เรียกว่า two notes chords ) แย็บนิดแย็บหน่อยไปในช่วงของการโซโล ตัวอย่างเช่นเพลง Gimme All Your Lovin' และการใช้คอร์ด 3 สาย ( สาย 2,3,4 ) เล่นเป็นริทึ่มแบ็คอัพบทเพลงหรือใช้ช่วงโซโล ซึ่งเป็นแนวความคิดของการเล่นคอร์ดยุคใหม่ เรียกว่าคอร์ด 3 สาย กลุ่มศิลปินดาวค้างฟ้า โรลลิ่ง สโตนส์ ถือเป็นร็อคกลุ่มแรกที่ใช้คอร์ดในลักษณะนี้อย่างจริงจังลองฟัง Start Me Up, Brown Sugar,Honky Tonk Woman จะเข้าใจดี บทเพลงของจิมมี่ เฮนดริกซ์ Wait Until Tomorrow ก็ใช้คอร์ดในลักษณะดังกล่าว แม้กระทั่งการใช้ริทึ่มคอร์ดแบ็คอัพในบทเพลงป๊อป เช่น ของมาดอนน่า ก็ใช้การเล่นคอร์ดดังกล่าวนี้ ขอบคุณโรลลิ่ง สโตนส์ที่นำความรู้ใหม่ๆมาให้พวกเรา
กิ๊บ บอนส์ ไม่ใช่ว่าจะตบคอร์ดแย็บนิดแย็บหน่อยสลับไปกับการเล่นโซโลเท่านั้น บางครั้งเขายังใช้วิธีการที่เรียกว่า Blocked Chord Solo คือแทนที่จะเล่นโซโลเป็นตัวโน้ตเดี่ยวๆทีละตัว [Single Note] หรือโซโลเป็นโน้ตคู่ประสาน 2 ตัว [double stops] เขาโซโลออกมาเป็นโน้ต 3 ตัว หรือที่คนไทยเรียกกันว่า " โซโลเป็นพวง" ผู้ที่จะโซโลออกมาเป็นพวงได้เช่นนี้ ต้องมีความรู้เรื่องการ Hamonized Scale,Passing Chord, ฯลฯอย่างช่ำชองและต้องผ่านการฝึกปรือมือซ้ายมาเต็มกำลังจึงจะทำได้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เรื่องคอร์ด หรือฮาร์โมนี่ไม่มีอันทำเช่นนี้ได้เด็ดขาด สายร็อคที่เห็นได้อยู่กันประจำก็ได้แก่กลุ่มศิลปินร็อคอะบิลลี่ เช่น สก็อตตี้ มัวร์ มือกีตาร์คนแรกของเอลวิส เพรสลีย์,คาร์ล เพอร์กินส์ สุดรักสุดบูชา ของยอร์ช แฮริสัน อดีตสี่เต่าทองฯลฯสายนี้จะใช้การBlocked Chord Solo เป็นบางช่วง อาจเป็น 2 ห้อง,4 ห้องบ้าง สลับกับการโซโลโน้ตเดี่ยว ฯ หรือคู่ประสาน แต่สายแจ๊ซพวกบีบ๊อบ สวิงฯลฯ พอเริ่มบล็อคคอร์ดโซโล อาจโซโลกันเป็นชุดหรือทั้งประโยค ไปจนกระทั่งถึงโซโลกันทั้งท่อนโซโล หรือทั้งคอรัสเลยทีเดียว บทเพลง Tube Snake Boogie ของกิ๊บบอนส์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านนี้ของเขา และสะท้อนให้เห็นว่ากิ๊บบอนส์ ผ่านงานร็อคอะบิลลี่ มาแล้วอย่างโชกโชน
การที่คิดจะเป็นมือโซโลที่ดีไม่ใช่มุมานะจะไล่สเกลกันท่าเดียว ยังต้องมีองค์ประกอบด้านอื่นๆอีกหลายต่อหลายอย่าง แล้วกิ๊บบอนส์ ล่ะใช้สเกลอะไร เขาใช้อยู่เพียง 2-3ชนิดเท่านั้น ก็เป็นบุคคลสำคัญได้ผู้หนึ่ง ผมอยากจะฝากอะไรเอาไว้สำหรับพวกเราสักนิดว่า ถ้าเมเจอร์สเกลยังไม่รู้จักดีพอ ก็จงอย่าหาทางนิ้วไมเนอร์สเกลมาฝึกหัด ถ้าได้เมเจอร์สเกลและไมเนอร์สเกลแล้ว ก็จะรู้จักเพนตาโทนิค และบลูส์สเกลได้เอง และถ้าเมเจอร์ ,ไมเนอร์ เพนตาโทนิคไม่คล่องแล้วละก็ ลืมเรื่องโมด ,ดิมินิชสเกล,โฮลโทนสเกล ฯลฯ ไปก่อนจะดีกว่า นักกีตาร์ที่ดีไม่ได้วัดกันว่าใครรู้จักสเกลมากกว่ากัน ยังีเรื่องอื่นๆอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะเป็นนักดนตรีที่ดี มือโซโลที่ยอดเยี่ยม ไม่เชื่อลองถามบิลลี่ กิ๊บบอนส์ดูก็ได้
From : Overdrive Guitar Magazine No. 27 , September 2000
No comments:
Post a Comment