พื้นที่ของแหล่งความรู้และเรื่องราวที่น่าสนใจ รวบรวมจากบทความ และบทเรียน ต่างๆใน Overdrive , Rhythm Section และ Com Music ซึ่งเป็นหนังสือในเครือ PMG โดยเฉพาะเล่มเก่าๆ ที่ตอนนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว ซึ่งมีบทความมากมายที่รอให้ทุกๆคนได้สัมผัส

Wednesday, November 7, 2007

แนวคิดในการเขียนเพลงของ โป่ง ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์

From :ดนตรีโต๊ะกลม, Overdrive Guitar Magazine No. 28, October 2000.

clip_image002

สวัสดีครับ ฉบับนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องของแนวคิดในการเขียนเพลงของตัวเอง หลังจากงานของหิน เหล็ก ไฟ ผ่านไปความคิดความอ่านในการเขียนเพลงของเราก็เปลี่ยนแปลงบ้าง คือเจตนาของเราจะก้าวไปคืออยากจะพัฒนาตัวเองบ้าง พยายามเขียนเรื่องราวที่แตกต่างออกไปบ้าง ก็มีเหมือนอย่างทีเล่นทีจริงอย่างเพลง "แวมไพร์" ซึ่งพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ที่ผมหรือใคร ๆ ก็มีแต่ก็ไม่ได้จะให้ล่อแหลมอะไรมาก "เพลย์บอย" ก็สอดแทรกค่านิยมเรื่องของการสวมถุงยางอนามัย คือเราก็พยายามช่วยกันบ้างในเรื่องนี้ คงไม่ถึงขนดว่ารับผิดชอบสังคมแต่มันน่าจะมีคนที่รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เราพูดบ้าง อาจจะแค่สองสามคนที่เข้าใจก็ยังดี เราคงทำงานเป็นแค่กลไกหนึ่งของสังคมมากกว่า

เวลาจากการทำงานตั้งแต่ชุดแรก ๆ จนถึงปัจจุบันทำให้ความคิดอ่านในการทำงานของตัวเองเปลี่ยนไปพอสมควร คิดว่าอีกไม่นานตัวเองต้องมีวิธีการเขียนเพลงแบบใหม่ ๆ มีวิธีนำเสนอเรื่องราวแบบใหม่ ทั้งมุมมองและวิธีการเขียน การโยงการใช้ภาษา พยายามสังเกตงานเขียนเพลงของตัวเองว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม กับสิ่งที่คิดจะเปลี่ยนแปลงซึ่งน่าจะมีแต่ไม่รู้ว่าคนฟังจะรับกันได้ไหม

สำหรับวิธีการทำงานเขียนเพลงส่วนตัวมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกมันมีมาจากแรงบันดาลใจ อาจจะเราได้ไปเจอเหตุการณ์ด้วยตัวเอง หรือไปพูดคุยกับคนที่เค้าเจอ เราก็จะเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนมันออกมาเป็นเรื่องเป็นราวของมัน อย่างที่สองประเภทมีโจทย์มา คือกำหนดเรื่องมาว่าเราจะเขียนเรื่องอะไร ซึ่งโจทย์นี่อาจจะมาจากพรรคพวกในวงหรือมาจากดนตรีก็ได้ เคยมีบางครั้งเหมือนกันที่เราพยายามเขียนงานให้คนอื่นแต่เค้าไม่เอาเพราะเค้าบอกว่าเพลงนั้นมันเป็นเรามากไป เนื้อหามันเข้ากับตัวเรามากกว่าที่เค้าจะร้อง สำหรับวิธีการที่จะเขียนเพลง ๆ หนึ่งก็อาจจะเริ่มจากมีทำนองมาให้แล้วเราใส่เนื้อร้อง หรืออาจจะเริ่มต้นจากเนื้อร้องของเราก็มีเหมือนกัน คงไม่ได้กำหนดวิธีตายตัวลงไป บางทีเราเขียนเรื่องเก็บไว้แล้วก็มาฟังดนตรีว่าเหมาะสมกับเรื่องแบบนี้มั้ย คุยกับเพื่อนร่วมวงได้บทสรุปแล้วเราก็เขียนเรื่องแบบนี้ดู สำหรับการลงเนื้อในส่วนของเพลงที่มีเมโลดี้แล้วนั้นเราคงจะดูภาพรวมของเพลง อาจจะต้องมีการยืดหยุ่นบ้าง แต่โดยส่วนตัวแล้วถ้าสามารถทำให้ตรงกับเมโลดี้เลยได้ก็จะทำ ถือว่าท้าทาย แต่ถ้ามันจำเป็นต้องมีการเดินเรื่องที่ไม่สามารถลงตามเมโลดี้ได้ก็คงต้องคุยกัน เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ต้องออกมาเป็นเพลงที่ทั้งวงยอมรับร่วมกัน

บางทีคนทำงานเขียนเพลงก็คงต้องการข้อมูลสำหรับเป็นไอเดียในการเขียนเพลงบ้างซึ่งมีหลายวิธี สำหรับตัวเองก็ชอบอ่านหนังสือที่น่าสนใจหรือมีคนแนะนำ แต่เราจะอ่านทั้งเพื่อประเทืองอารมณ์และอ่านเพื่อเก็บเป็นข้อมูล บางที่เราก็ได้จากหนังสือที่ไม่คิดว่าจะได้ บางทีเราเจอคำพูดประโยคนึงก็ทำให้เราเกิดไอเดียที่สามารถเขียนเป็นเพลง ๆ เลยก็มี ล่าสุดนี่ก็อ่านหนังสือเรื่องเกี่ยวกับโลกาภิวัฒน์เล่มหนึ่งแล้วก็เก็บมาเขียนเพลงได้เลย คือเราจะมองเรื่องบางอย่างที่ใกล้ตัวแต่คนมักจะมองข้ามเราจะเอามาเขียน แต่กับเรื่องที่ฮือฮาในสังคมช่วงระยะเวลานั้นจะไม่ค่อยเอามาเขียนเพราะไม่ค่อยชอบแนวนี้เท่าไหร่ จะพยายามเขียนเรื่องที่เป็นกลาง ๆ และทุกคนจับต้องได้ และอยากให้งานอยู่นาน ๆ

ในเรื่องของการใช้คำเราไม่ค่อยซีเรียสมากนัก ค่อนข้างจะยืดหยุ่น คำว่า "แคร์" ที่อยู่ในเพลง "อย่าหยุดยั้ง" ก็คงบอกได้ชัดเจน หรืองานเพลงในชุดใหม่นี่ก็จะมีเรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษเข้ามาปนในเนื้อเพลงเหมือนกัน ตรงนี้คิดว่าเรื่องของเพลงซึ่งเป็นเพียงความบันเทิงเราไม่น่าไปกำหนดข้อจำกัดอะไรมากมาย แต่ยังไงเพลงก็คงมีผลต่อคนฟังบ้าง อย่างเพลง "อย่าหยุดยั้ง" ทำให้ผมได้รับจดหมายจากแฟนเพลงคนหนึ่งที่เค้าประทับใจเนื้อหาของเพลงนี้ ยังไงเราก็ยังระลึกเสมอว่าสิ่งที่เราทำอาจจะมีผลต่อคนฟังได้เหมือนกัน

clip_image004 สำหรับผมคำว่าป๊อบที่เราพูด ๆ กันมันคือ Popular คือสิ่งที่คนนิยม คงต้องพูดถึงในช่วงเวลาด้วย แต่ตัวเองคงไม่ได้คำนึงถึงมากขนาดนั้น ถ้าพูดถึงเพลงช้าบ้านเรารับได้อยู่แล้ว ขอให้มีเมโลดี้เพราะเป็นใช้ได้อยู่แล้ว เวลาเราเขียนเพลงให้ ป๊อบนี้มันคงต้องมีเรื่องของยุคสมัยบ้าง แต่เราก็ไม่ทิ้งที่มาของเรา คงผสมผสานกันมากกว่า คำใหม่ ๆ ที่คนสมัยนี้ชอบพูดกันอย่าง "เด๊ะๆ" อะไรพวกนี้ผมก็ใช้อยู่เหมือนกัน คือคิดว่าบางอย่างเราจำเป็นต้องร่วมสมัย อยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและรับงานของเราได้ด้วย แต่กับการทำงานบางครั้งที่มีเมโลดี้บังคับอยู่ทำให้เหมือนกับว่ากำหนดเลยว่าเราต้องใช้คำบางคำไปเลยซึ่งก็คงจะเป็นคำที่เคยใช้ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ แต่กับคำบางคำอย่าง "โหม" หรือ "ไฟ" อะไรนี่คงไม่ค่อยใช้แล้วเพราะออกจะเป็นภาษาเขียนมากไป แต่ถ้าต้องเจอกับคำถามถึงเรื่องของจุดยืนในการทำงานในขณะที่เราเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยก็คงต้องตอบว่าเราเองมีจุดยืนของตัวเอง แต่จุดยืนนี่ไม่ใช่ว่ามันจะขยับไม่ได้เลย เราคงจะปรับตัวบ้าง "แข็งจนหัก" มันก็คงไม่ใช่ บางทีมันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย อย่าลืมว่าเราทำงานเพื่อคนฟัง ถ้าอยากทำงานตามใจตัวเองแบบแข็งไม่ขยับเลยแต่เก็บไว้ฟังเองคงไม่เป็นไร แต่ถ้าเราต้องการสื่อให้คนอื่นเข้าใจด้วยเราก็น่าจะขยับบ้าง อาจจะไม่ถึงกับก้าวขาออกไปจากจุดของเราแค่ลองเอนตัวดูบ้างก็ไม่น่าเสียหายอะไร

กับการทำงานแน่นอนว่าศิลปินทุกคนอยากให้ผลงานที่ทำออกไปมีส่วนพัฒนาวงการถึงคนฟังเพลง แต่กับงานที่สื่อออกไป บางทีมันยังไม่ได้ กับบทความที่เขียนนี้หรือคอลัมน์ดนตรีต่าง ๆ ก็น่าจะมีส่วนช่วยได้บ้างในเรื่องความรู้ความเข้าใจ เข้าใจงานที่เราสื่อออกไป เพราะบางทีเราไม่มีโอกาสมาอธิบายว่าเพลงนี้เราต้องการให้คนฟังเข้าใจอย่างนี้นะ ก็อาศัยตรงนี้ช่วยขยายความให้กระจ่างมากขึ้น บางอย่างที่เราสอดแทรกลงไปในเพลงน่าจะช่วยพัฒนาวงการเพลงได้บ้าง

ความสำเร็จในความหมายที่คิดมีอยู่สองอย่างคือทั้งด้านธุรกิจและด้านผลงานที่เราพอใจ เราได้อย่างที่เราคิด และเราได้คนฟังมากอย่างที่ต้องการ ที่สำคัญคนฟังได้รับในสิ่งที่เรานำเสนอด้วย บริษัทได้ยอดขายที่ไม่ทำให้เค้าขาดทุนหรือบางทีอาจมีกำไรด้วย ได้ทั้งเงินทั้งกล่อง ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดนี้ และบางทีก็หวังเหมือนกันว่าถ้าเวลาผ่านไปสิบยี่สิบปีงานของเราจะยังเป็นที่พูดถึง หวังแต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นได้หรือเปล่า

ปิดท้ายก็หวังว่าความคิดอ่านของตัวเองที่ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือมาคงจะเป็นประโยชน์ต่อคนอ่านบ้างไม่มากก็น้อย สวัสดีครับ

อ้างอิง: ดนตรีโต๊ะกลม, Overdrive Guitar Magazine No. 28, October 2000.

No comments: